1

รีวิว Hereditary

รีวิว Hereditary ปีที่แล้วเรามี จอร์แดน พีล อดีตดาราและผู้กำกับสายคอมมีดี้ ที่เปลี่ยนแนวมากำกับหนังสยองขวัญ “Get Out” กลายเป็นหนังม้ามืดที่ฮิตถล่มทลาย ทั้งทำเงินและตัวหนังก็ได้เสียงตอบรับดี ไปได้ไกลถึงขั้นเข้าชิงออสการสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

มาถึงปีนี้ก็ถึงคราวของ อารี แอสเตอร์ ผู้กำกับหน้าใหม่ที่เหมารวมหน้าที่กำกับและเขียนบทหนังเรื่องแรกของเขา “Hereditary”  ได้เสียงฮือฮาตั้งแต่ต้นปี หลังไปเปิดตัวในเทศกาลซันแดนซ์ ทุกเสียงต่างก็ชื่นชมว่า “นี่คือหนังสยองขวัญที่น่ากลัวที่สุด” สำหรับปีนี้แล้ว แล้วยังพาให้ โทนี่ คอลเล็ตต์ ดาราสาว รุ่นใหญ่ ได้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งกับฝีมือการแสดงที่โดดเด่นในเรื่องนี้ รวมรีวิวหนังระทึกขวัญ

2

หนังไม่รีรอที่จะปูบรรยากาศสยองขวัญแบบค่อยเป็นค่อยไปเหมือนอย่างเรื่องอื่น แต่ Hereditary เลือกที่จะปล่อยบรรยากาศลี้ลับเอาตั้งแต่นาทีแรกของหนังเลย ทั้งดนตรีประกอบ ทั้งการเคลื่อนกล้องช้า ๆ ให้คนดูพร้อมรับสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นเบื้องหน้าถัดจากนี้ไปกันแต่โดยดี 

รีวิว Hereditary เนื้อเรื่อง

หนังเปิดเรื่องด้วยฉากงานศพของเอลเลน คุณยายของครอบครัวเกรแฮม ทิ้งความโศกเศร้าไว้กับลูกหลาน ที่ประกอบไปด้วยแอนนี่ ลูกสาวของเธอ และ สตีฟ สามี ที่มี ปีเตอร์ ลูกชายวัยรุ่น และชาร์ลี น้องสาววัย 13 ที่มีสภาพทางจิตไม่ค่อยปกตินัก หลังงานศพ

ทั้งครอบครัวก็เริ่มสัมผัสเหตุการณ์ประหลาด ทั้งการมาปรากฏตัวของคุณยายให้หลาน ๆ เห็น แอนนี่ที่กลับมาละเมอเดินอีกครั้งหลังจากหายไปนาน ทำให้แอนนี่สืบหาสาเหตุด้วยการค้นข้าวของเก่า ๆ ของแม่และก็เจอความลับอันน่ากลัวที่แม่ไม่เคยแพร่งพรายให้เธอรู้ แต่มันก็ผ่านเลยจุดที่แอนนี่จะแก้ไขได้ทัน

เพราะสิ่งชั่วร้ายได้เข้ามาคุกคามครอบครัวของเธอแล้ว ต้องเน้นย้ำว่า “ความลับของยาย” นี่คือหัวใจหลักของหนัง ใครสปอยล์ตรงนี้โกรธกันไปเลย ตัวผู้เขียนพลาดมากที่ได้ไปอ่าน Wikipedia ของหนัง แล้วพลอตในวิกิก็สปอยล์เสียเหี้ยนเลย ตอนที่ได้ดูก็เลยขาดอรรถรสที่จะได้ร่วมลุ้นความลับตรงนี้ไปพอควรเลยล่ะ 

3

มิลลี่ แชปปิโร ดาราเด็กในบทชาร์ลี แม้จะมีบทบาทไม่มากแต่บทของเธอก็ถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักตัวหนึ่งของเรื่อง มิลลี่มีใบหน้าที่แปลกดูเป็นเอกลักษณ์เฉพาะมาก แม้อยู่เฉย ๆ ก็ดูลึกลับ คาดเดาความคิดของเธอไม่ถูก 

อีกองค์ประกอบสำคัญของเรื่องก็คือ “บ้าน”ของครอบครัวเกรแฮม ที่มีผลให้ Hereditary เป็นหนังน่ากลัวขึ้นมาก เป็นบ้านหลังใหญ่มากตั้งอยู่เอกเทศกลางป่า ข้างบ้านมีบ้านต้นไม้หลังใหญ่สร้างไว้ให้ชาร์ลี ในบ้านมีทางเดินแคบ ๆ

และที่สำคัญเป็นบ้านที่แสงสลัวแม้แต่ช่วงกลางวันก็ยังดูเหมือนเป็นกลางคืนตลอดเวลา ซึ่งเหมาะมากกับบรรยากาศหนังสยองขวัญแบบนี้ เหตุการณ์ร้ายตลอดทั้งเรื่องต่างเกิดขึ้นแทบทุกห้องในบ้านหลังนี้ รีวิวหนังแนะนำ

การดำเนินเรื่อง

แรกเริ่มหนังทำให้เราเชื่อไปว่าปีศาจที่ว่าคือความไม่สมประกอบบางอย่าง ดังที่แอนนี่เล่าในฉากหนึ่งว่าแม่เธอป่วยเป็นโรคบุคลิกแตกแยก (DID – Dissociative Identity Disorder) พ่อเป็นโรคซึมเศร้า พี่ชายเป็นโรคจิตเภทที่แขวนคอตายไปนานแล้ว ส่วนตัวเธอเองก็ง่อนแง่นอยู่บนเส้นแบ่งความบ้า-ไม่บ้ามาตลอดชีวิต 

หากลองถอดองค์ประกอบสยองขวัญต่างๆ ทิ้งไป เราอาจได้หนังดราม่าที่ว่าด้วยครอบครัวหนึ่งที่พังยับเยินไม่มีชิ้นดี ถูกโศกนาฏกรรมประดังประเดเข้าใส่จนสุดท้ายตายกัน(เกือบ)ยกบ้าน สิ่งที่แอนนี่พอจะทำได้เพื่อไม่ให้สติแตกระหว่างนั้นคือการมุ่งมั่นอยู่กับงานสร้างแบบจำลอง

ที่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นการจำลองฉากจากชีวิตของเธอทั้งสิ้น ความโยงใยของการส่งต่อหรือการผลิตซ้ำจึงมีทั้งการผลิตซ้ำพ่อแม่ออกมาใหม่เป็นลูก และการผลิตซ้ำภาพสถานการณ์ที่บ้านให้กลายเป็นฉากในบ้านจำลองที่ดูสมบูรณ์พร้อม บ้านจำลองของแอนนี่จึงจุนเจือภาพครอบครัวในอุดมคติที่เธอหวังว่าจะมี 

จนเมื่อชีวิตจริงเริ่มไหลลงเหวจากการจากไปของแม่จนมาถึงการตายอันแสนโหดร้ายของชาร์ลีนี่เอง ที่การสร้างบ้านจำลองไม่อาจสร้างภาพครอบครัวสมบูรณ์แบบให้เธอได้อีกต่อไป และจำต้องถูกพังทิ้งไม่ต่างจากครอบครัวพังๆ ของเธอ 

4

หนังไม่เดินเรื่องตามสูตรสำเร็จ คาดเดาทิศทางหนังไม่ได้ อารมณ์หนังทวีขึ้นตามคลามลับของคุณยายเอลเลนที่ค่อย ๆ คลี่คลายออกมา และไปพีคสุดในไคลแมกซ์สุดท้าย ที่ต้องยกให้เป็นฉากที่ลุ้นสุดในประวัติศาสตร์หนังสยองขวัญกันเลยทีเดียว

เป็นหนังอีกเรื่องที่ตัวอย่างหนัง “ไม่ดึงดูด” นัก แต่บอกได้เลยว่าแม้ในตัวอย่างเผยฉากใหญ่ ๆ ออกมาหลายฉาก แต่เทียบไม่ได้กับการได้สัมผัสหนังจริง น่ากลัวกว่าตัวอย่างหนังหลายเท่านัก 

หนังมีกำหนดฉายในบ้านเรา 14 มิถุนายน นี้ ที่น่าติดตามหลังจากนี้ คือหนังจะสร้างปรากฏการณ์อะไรได้บ้าง โดยเฉพาะช่วงล่ารางวัลปลายปีนี้ แต่ที่รู้ ๆ ตอนนี้คือ อารี แอสเตอร์ กลายเป็นผู้กำกับเนื้อหอมตั้งแต่หนังยังไม่เข้าโรงฉายในวงกว้างแล้ว

บรรดาสตูดิโอต่างเสนอโปรเจ็กต์ใหญ่ให้ไปกำกับ แต่อารี กลับบอกปฏิเสธหมด เพราะพอใจที่จะทำหนังทุนต่ำไร้การควบคุมจากสตูดิโอแบบนี้ต่อไป รอดูผลงานต่อไปของเขากันครับ 

ความเป็นมาของตัวหนัง

ผลงานหนังยาวเรื่องแรกของ แอรี แอสเตอร์ (Ari Aster) เรื่องนี้ชวนให้นึกถึงหนังสยองขวัญยุคหลังๆ อย่าง The Witch (2015), It Comes At Night (2017) หรือ Get Out (2017)

ที่ต่างประสบความสำเร็จในการสร้างความสะพรึงได้อย่างชาญฉลาดและไม่พึ่งพาอยู่แต่กับจังหวะตุ้งแช่แบบที่หนังสยองขวัญกระแสหลักชอบทำ เช่นนี้ความสยองของหนังจึงขยับขยายจากเรื่องของผีหรือพลังเหนือธรรมชาติ ไปสู่ปริมณฑลอื่นๆ ได้อย่างแนบเนียน แม้ในหนังจะมีผีหรือไม่มีก็ตาม 

5

ความน่ากลัวของ Hereditary จึงไปอยู่กับสถานการณ์กดดันที่คาดเดาไม่ได้มากกว่าจะเป็นเรื่องลี้ลับ รวมไปถึงความสยองขวัญที่เกิดขึ้นกับร่างกายอย่างภาพนกหัวขาด มดขึ้นศพ หรือการทุ่มหน้ากระแทกโต๊ะจนเลือดโชก

แอสเตอร์ทำให้แทบทุกฉากของหนังคลุ้งเคล้าไปด้วยมวลสารของความชั่วร้าย ผ่านการคุมจังหวะการเล่าเรื่องที่แม่นยำ การจัดองค์ประกอบภาพที่เล่นกับการย่อ-ขยายส่วน ภาพตื้น-ลึก และการเล่นกับแสง เงาได้อย่างน่าพรั่นพรึง เหนือสิ่งอื่นใด

หนังเผยให้เห็นความสยดสยองของสิ่งที่เราคุ้นเคยดีที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’ จนอาจเหมาะสมกว่าหากเปรียบครอบครัวในหนังเรื่องนี้เสียใหม่ว่า ‘บ้านคือนรกของเรา’ 

ขณะที่หนังเรื่อง The Witch เล่าถึงครอบครัวที่ผลักให้คนกลายเป็นปีศาจ Hereditary นั้นว่าด้วยปีศาจที่สิงสู่อยู่ในสถาบันครอบครัวอยู่แล้ว และถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ ไม่ต่างจากที่ชื่อหนังบอก 

รีวิว Hereditary ความรู้สึกหลังดู

ความยาว 2 ชั่วโมงของหนังผ่านไปอย่างตึงเครียดสุด ๆ ค่อย ๆ ทวีความรุนแรงไล่จาก 0 ไปถึง 100 อารี แอสเตอร์ สามารถถ่ายทอดสภาวะความตึงเครียดของครอบครัวเกรแฮมมาถึงคนดูได้อย่างสมบูรณ์ บรรยากาศในโรงหนักอึ้ง อัดแน่นไปด้วยบรรยากาศหม่น ๆ หนัก ๆ ทั้งดนตรีประกอบที่แปลกหู ทั้งภาพที่สลัวทั้งเรื่อง 

และสำคัญสุดคือฝีมือการแสดงของดารานำทั้ง 4 คน โดยเฉพาะโทนี่ คอลเล็ตต์ ที่รับภาระศูนย์กลางของเรื่องได้อย่างยอดเยี่ยม

แอนนี่ไม่ใช่แม่ที่ทำหน้าที่แม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ก็พยายามพาครอบครัวให้ผ่านพ้นสภาวะวิกฤตนี้ แต่ยิ่งแก้ก็เหมือนจะยิ่งพาไปสู่จุดดำดิ่งมากขึ้น บวกกับอาชีพสร้างบ้านจำลองของเธอ ที่ผลงานของเธอดูเป็นบ้านตุ๊กตาของครอบครัวแสนสุข แต่ในสภาวะจริงเธอไม่สามารถควบคุมจัดการครอบครัวให้เป็นสุขได้เหมือนอย่างบ้านจำลองในอาชีพเธอ 

6

หนังแสดงให้เห็นระดับความตึงเครียดของแอนนี่ผ่านงานของเธอที่เริ่มหลุดโลกออกไปทุกที และถึงจุดระเบิดบนโต๊ะอาหารเย็น เป็นฉากดราม่าที่ยาวและเห็นถึงพลังการแสดงของโทนี่ คอลเล็ตต์ และ อเล็กซ์ วูลฟ์ ที่ปล่อยฝีมือมาประชันกันได้อย่างน่าทึ่ง

ทำให้ต้องย้อนไปชื่นชมอารี แอสเตอร์ ผู้กำกับอีกครั้งที่ไม่ได้มีฝืมือแค่การสร้างบรรยากาศสยองขวัญ แต่ยังคุมฉากดราม่าแรง ๆ ได้อีกด้วย ไม่น่าเชื่อว่านี่คือผลงานของผู้กำกับมือใหม่ 

Hereditary จัดเป็นหนังสยองขวัญที่ให้อารมณ์แตกต่างจากที่คุ้นเคยกัน ไม่มีผี ไม่มีฉากแหวะ ไม่มีฉากตุ้งแช่ ฉากลุ้นสยองมาไม่ถี่นัก แต่ทุกครั้งที่มาจัดหนักและได้ผล อยากให้สัมผัสประสบการณ์เสียง “เต๊าะปาก” ที่ผวากันทั้งโรงครับ นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนของการเล่นน้อยได้มาก ที่ผู้กำกับอารี แอสเตอร์ทำได้สำเร็จ 

บทสรุปของหนัง

หากค่านิยมของครอบครัวในอุดมคติคือการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวไร้ความลับ ความลับใดที่สมาชิกมีในชีวิตจริงสามารถเข้ามาสั่นคลอนสถาบันครอบครัวได้เสมอ เพราะการอยู่กันเป็นหน่วยครอบครัวนั้นหมายถึงทางเลือกใดก็ตามที่ปัจเจกบุคคลเลือกย่อมส่งผลถึงสมาชิกคนอื่นในครอบครัวอย่างไม่อาจเลี่ยง 

ในกรณีของ Hereditary ราคาค่างวดของความลับไปไกลกว่าการทำให้ช็อกหรือเสียใจ แต่มันคือการบูชายัญชีวิตคนในครอบครัวเพื่อสนองตอบต่อทางเลือกเผด็จการของยาย ที่ไม่ใช่แค่เลือกให้กับตัวเธอคนเดียว แต่เลือกให้กับคนทั้งครอบครัว 

ความลับของยายจึงเป็นคำสาปที่ถูกส่งต่อมาถึงสมาชิกคนอื่นโดยไม่อาจปฏิเสธหรือต่อรองได้ ไม่ต่างจากสารพันธุกรรม หรือความผิดปกติทางจิตใจ กล่าวให้สุดทาง

การเกิดขึ้นมาบนโลกก็ดูเหมือนจะไม่ใช่อะไรเลยนอกไปจากการน้อมรับทั้งสารพันธุกรรม ความผิดปกติ และคำสาปที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ส่งมาให้

ชีวิตของแอนนี่จึงเป็นเพียงเพื่อการได้มีลูกชายให้เพม่อนได้สิง ชีวิตแสนสั้นของชาร์ลีก็เพื่อเป็นร่างชั่วคราวของเพม่อน ส่วนชีวิตของปีเตอร์นั้นแม้จะเกิดมาโดยแม่ไม่ต้องการแต่ก็มีจุดประสงค์เพื่อเป็นร่างสมบูรณ์ให้เพม่อนนั่นเอง 

7

ชีวิตที่พวกเขามีจึงเป็นชีวิตที่ช้ำชอกจากการมีชีวิตอยู่ เนื่องจากการดำเนินของชีวิตเป็นไปเพื่อตอบสนองเป้าประสงค์ของยายเท่านั้น เมื่อหนังเดินเรื่องมาถึงจุดที่ชาร์ลีตาย ตัวละครในครอบครัวนี้ต่างก็ร่วงดิ่งลงสู่ความสิ้นหวัง

ในขณะที่แอนนี่ใกล้จะสติแตกอยู่รอมร่อ ปีเตอร์รู้สึกผิดบาปกับการทำให้น้องตายและเจ็บปวดที่แม่ไม่ต้องการ ส่วนสตีฟที่ดูเหมือนจะคุมสติได้ดีที่สุดก็ล้มเหลวในฐานะพ่อและผัว 

การมีชีวิตอยู่สำหรับพวกเขาคือความเจ็บปวดที่ต้องคอยแบกชีวิตพังๆ เดินหน้าเป็นหน่วยครอบครัวต่อไป เพราะถูกค้ำคอด้วยศีลธรรมและค่านิยมของการมีครอบครัวที่ดี ทั้งๆ ที่ความเป็นครอบครัวของพวกเขานั้นได้แหลกสลายลงไปแล้ว 

หลังจากที่หนังทยอยฆ่าตัวละครผู้เป็นสมาชิกของครอบครัวไปจนถึงตอนจบ แผนการของยายบรรลุผล และชาร์ลี/เพม่อนในร่างปีเตอร์ได้รับราชาภิเษก

บรรยากาศกดดันและเฮี้ยนคลั่งที่หนังดำเนินมาตลอดทั้งเรื่องก็เปลี่ยนไปเป็นบรรยากาศของการเฉลิมฉลองแทน จนจะบอกว่ามันเป็นตอนจบที่มีความสุข (happy ending) ก็ไม่ผิดนัก

เพราะหนังมอบการปลดปล่อยทางอารมณ์ให้กับคนดูในที่สุด หลังผ่านความสยองมาตลอดทั้งเรื่อง ตัวละครที่ทนทุกข์ทรมานต่างได้รับการปลดปล่อยไปสู่ความตาย ในขณะที่อีกคนได้รับการยกย่องเยี่ยงราชา 

ในแง่นี้ Hereditary จึงเป็นหนังสยองขวัญที่มองความตายได้น่าสนใจเหลือเกิน ด้วยเพราะความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวแบบที่หนังสยองขวัญเรื่องอื่นนำเสนอ หากเป็นเสมือนทางรอดหรือทางออกจากความทรมานเสียมากกว่า

ในขณะที่การมีชีวิตอยู่หรือการพยายามอยู่รอดให้ได้ในโลกจำลองที่เราถูกชักใยต่างหากที่น่าหวาดผวา ด้วยเหตุนี้เราจึงเชียร์ให้ตัวละครตายๆ ไปเสียมากกว่าเชียร์ให้สู้กับภูติผีได้สำเร็จ เพราะจุดจบที่เรียกว่าความตาย อาจไม่ได้น่าสะพรึงเท่ากับชีวิตที่ทำการส่งต่อไปไม่ยอมจบ 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *